เชื้อก่อโรคในส้มตำหอยดอง


ส้มตำ เป็นอาหารที่รับประทานได้ทุกมื้อ ทุกที่ ทุกเวลา เนื่องจากเป็นอาหารที่หารับประทานง่ายและปรุงเองได้ง่ายตามใจชอบโดยสามารถใส่วัตถุดิบได้หลากหลายชนิด
เรามักเรียกชื่อส้มตำแต่ละชนิดตามวัตถุดิบ เช่น ส้มตำมะม่วง ส้มตำแตง ส้มตำถั่ว ส้มตำปูปลาร้า ส้มตำกระท้อน ส้มตำหอยดอง เป็นต้น
หลายคนมักจะตั้งคำถามและพิพากษาให้ส้มตำเป็นอาหารที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย เหตุเพราะบางรายทานแล้วเกิดอาการท้องร่วง ท้องเสีย ขั้นเบาถึงขั้นรุนแรง นั่นเป็นเรื่องที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ สาเหตุของอาการดังกล่าว เกิดขึ้นจากจุลินทรีย์ก่อโรคที่มีอยู่ในอาหาร และที่มักพบบ่อยและคุ้นหู คือ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส
เชื้อก่อโรคชนิดนี้ เป็นเชื้อที่มักพบปนเปื้อนในอาหารทะเล และตามธรรมชาติ ดิน แม่น้ำ ทะเล อากาศ เมื่อนำอาหารทะเลมาใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร หรือหากมือผู้ปรุงสัมผัสกับเชื้อ เมื่อเราทานอาหารเข้าไป ร่างกายก็จะได้รับอันตรายจากเชื้อก่อโรคเข้าไปด้วย เชื้อชนิดนี้มีระยะฟักตัว 4-96 ชั่วโมง หลังจากที่ทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเข้าไป ส่วนใหญ่อาการจะเกิดประมาณ 15 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อ อาการทั่วไปคือ ท้องเสีย เป็นตะคริว อาเจียน มีไข้หนาวสั่น
วันนี้ สถาบันอาหารทำการสุ่มเก็บตัวอย่างส้มตำหอยดองตามร้านขายส้มตำ จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนของ เชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ผลปรากฏว่าไม่พบการปนเปื้อนในส้มตำหอยดองทุกตัวอย่าง วันนี้ท่านที่โปรดปรานส้มตำหอยดองก็คงสบายใจกันได้

ไม่มีความคิดเห็น